หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต,หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์
คุณสมบัติผู้ที่สามารถสมัครเข้าศึกษาต่อ
1. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาเภสัชศาสตร์
2. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (สาขาเคมี ชีววิทยา ชีวเคมีและสาขาอื่นที่ใกล้เคียงกัน) เกษตรศาสตร์ และ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น
โดยการรับเข้าศึกษาต่อ จะใช้การสอบสัมภาษณ์เป็นหลัก
การศึกษาต่อสาขาเภสัชศาสตร์ ด้านสมุนไพรในภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ เน้นการศึกษาในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หัวข้อวิจัยซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเพื่อใช้เป็นวิทยานิพนธ์ได้ แบ่งเป็น 5 ทิศทาง ได้แก่
1. การศึกษาเพื่อพัฒนาตำรับยาที่มีสมุนไพรเป็นองค์ประกอบ
เน้นด้านการตั้งตำรับยาและพัฒนาตำรับยาจากสมุนไพร โดยใช้สมุนไพรหรือสารสกัดจากสมุนไพรเป็นองค์ประกอบในตำรับยานั้นๆ เพื่อให้ได้ตำรับยาที่น่าใช้ มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงและมีความคงตัวดี ตัวอย่างเช่น การศึกษาและพัฒนาตำรับยาครีมจากทองพันช่างและเทียนบ้าน เพื่อใช้เป็นผลิตภัณฑ์รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราเป็นต้น
2. การจัดทำมาตรฐานสมุนไพร
เน้นการศึกษาสมุนไพรที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อกำหนดมาตรฐานที่ดีของสมุนไพรนั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้เป็นมาตรฐานตามเภสัชตำรับสมุนไพรของประเทศ รวมถึงการศึกษาแนวทางการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว เก็บรักษาและการเตรียมผลิตภัณฑ์ส่งจำหน่าย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่ดี ตัวอย่างเช่น การจัดทำมาตรฐานสมุนไพรชะลูด และทองพันชั่ง การศึกษาผลของการเก็บรักษาต่อปริมาณสารสำคัญและฤทธิ์ของขมิ้น
3. การศึกษาทางพฤกษเคมีในสมุนไพร
ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพร (ช่น ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค มาลาเรีย และเอดส์ เป็นต้น) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสมุนไพรนั้นไปใช้ในทางการแพทย์ และด้านอื่นๆ เช่น เป็นเครื่องสำอาง หรือสารเคมีทางการเกษตร การวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในภาควิชา ฯ ขณะนี้มีความหลากหลายในเรื่องชนิดของตัวอย่างศึกษาอย่างมากซึ่งนับเป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกตามความสนใจ เช่น กลุ่มพืชเครื่องเทศในตระกูล ขิง ข่า กลุ่มพืชสมุนไพรไทยในตระกูลพญาสัตตบรรณ เลี่ยน หัวข้าวเย็น และชิงดอกเดียว รวมถึงการศึกษาในผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทางทะเล ได้แก่ฟองน้ำ เพรียงหัวหอม และกัลปังหา ซึ่งต่างก็เป็นสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีการศึกษาแล้วว่ามีฤทธิ์ดี และมีแนวโน้มในการพัฒนาต่อไปได้
4. การศึกษาเทคโนโลยีชีวภาพด้านสมุนไพร
เน้นการศึกษาเพื่อปรับปรุงพันธุ์ และขยายพันธุ์พืชสมุนไพร การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชสมุนไพรเพื่อคัดเลือกสารพันธุ์ที่สร้างสารสำคัญในปริมาณมาก และเพื่อใช้ในการผลิตสารสำคัญโดยไม่ต้องผ่านการเพาะปลูก รวมถึงการศึกษาเพื่อใช้เนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงในการศึกษากระบวนการสร้างสารสำคัญตัวอย่างเช่น การคัดเลือกสายพันธุ์ชุมเห็ดเทศ และเจตมูลเพลิงแดง ที่สามารถสร้างสารสำคัญในปริมาณสูง และการศึกษาการสร้างสารสำคัยในเทียนบ้าน อัญชัน และเปล้าน้อย
5. การศึกษาด้านภูมิปัญญาและการแพทย์พื้นบ้าน
เน้นการศึกษาเชิงลึกด้านปรัชญา แนวคิด วัฒนธรรม และทฤษฎีการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน โดยเน้นด้านสมุนไพร และเภสัชกรรมไทย สำรวจวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ด้านสมุนไพรที่ใช้ในการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน
ประสบการณ์ระหว่างศึกษาต่อ
นักศึกษาของภาควิชาเภสัชเวทฯ จะมีโอกาศได้สัมผัสกับการใช้สมุนไพรและการออกสำรวจตัวอย่างสมุนไพรในภาคสนาม กิจกรรมต่างๆ และประสบการณ์ในภาคสนามนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่นักศึกษาของภาควิชาฯ
โอกาสการทำงาน
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงและมีประสบการณ์การทำงานวิจัย ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอย่างมากซึ่งเห็นได้จาก
- นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ในการสนับสนุน การใช้สมุนไพรและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
- กระแสการใช้สมุนไพรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวบถึงกระแสการตอบรับการให้บริการสุขภาพแผนไทย ทั้งในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน
- การขยายตัวอย่างมากของตลาดยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายในประเทศตลอดจนต่างประเทศ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สามารถปฏิบัติงานได้ในหลายตำแหน่งด้วยกัน เช่น
- หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม และเภสัชกรที่รับผิดชอบด้านการผลิตและการใช้ยาสมุนไพรหรือการแพทย์ทางเลือกในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน
- หัวหน้าฝ่ายวิจัย นักวิจัยอาวุโส และนักวิจัยประจำหน่วยงานทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันวิจัยของรัฐฯ แผนกวิจัยยาของบริษัทต่างๆ ทั้งในส่วนงานวิจัยทั่วไป และส่วนยาจากสมุนไพร
- ที่ปรึกษาด้านสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในโรงงานและและบริษัทอุตสาหกรรมยา
- อาจารย์ประจำสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งระดับโรงเรียน วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
การสนับสนุนทรัพยากรการวิจัยและทุนการศึกษา
เครื่องมือและอุปกรณ์การวิจัย
ภาควิชาเภสัชเวทฯ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จำเป็น ต่อการวิจัยที่ครบถ้วนในระดับที่ดีเทียบเท่า หรือดีกว่าในหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ทั้งเครื่องมือทางด้านการแยกสกัด เช่น HPLC เครื่องมือการตรวจวิเคราะห์ เช่น IR และ UV Spectrometer และเครื่องมือทางเทคโดนโลยีชีวภาพ เช่น PCR, FPLC, electrophoresis นอกจากนั้นนักวิจัยของภาควิชาฯ ยังสามารถใช้เครื่องมือวิจัย จากหน่วยงานกลางได้แก่
- หน่วยเครื่องมือกลางคณะเภสัชศาสตร์
- ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชและเนื้อเยื่อสัตว์ทดลอง
- ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา
- อุปกรณ์การแยกสกัดขั้นสูง
- อุปกรณ์เพื่อการวิเคราะห์มาตรฐานสมุนไพร
ทุนการศึกษา
คณะเภสัชศาสตร์มีการสนับสนุนทุนการศึกษาในรูปแบบต่างๆเช่น
- ทุนการศึกษาในโครงการศิษย์ช่อมะกอก (ให้เฉพาะนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากคณะ เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
- ทุนการศึกษาตามโครงการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ (เปิดทั่วไป)
- ทุนการศึกษาจากกองทุนวิจัยของคณเภสัชศาสตร์ (เปิดทั่วไป)
- ทุนสนับสนุนการทำวิจัย เพื่อการทำวิทยานิพนธ์
ทุนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นทุนยกเว้นค่าลงทะเบียน นอกจากนี้ อาจมีการพิจารณาทุนในรูปทุนผู้ช่วยวิจัยรือผู้ช่วยสอนซึ่งจะสนับสนุนเงินเดือนประจำบางส่วนด้วย และอาจารย์ในภาควิชาฯ ส่วนหนึ่ง ยังมีทุนผู้ช่วยวิจัยจากน่วยงานภานนอกมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนเงินเดือนประจำ ให้นักศึกษาเช่นกัน
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถาม
และหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก
- สำนักงานภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ อาคาร 3 ชั้น 4 คณะเภสัชศาสตร์
โทร 074-428220,074288891
- งานบริการการศึกษาคณะเภสัชศาสตร์
โทร 074-428216